“มะละกอ” ผลไม้เขตร้อน คุณประโยชน์สูง รับประทานได้ทั้งดิบและสุก พร้อมปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู โดยมะละกอผลสุกจะมีเนื้อสีเหลืองหรือส้มประกอบด้วยแคโรทีนอยด์ (carotenoid) สูง
นอกจากนี้ในยางมะละกอยังมีเอนไซม์ ชื่อว่า “ปาเปน” มีสรรคุณย่อยโปรตีนได้ จึงเป็นที่มาว่า เหตุใดยางมะละกอดิบจึงนำมาใช้ในการหมักเนื้อสัตว์ได้ดีนั่นเอง
“มะละกอดิบ” และ “มะละกอสุก” ดีต่อสุขภาพอย่างไร?
การรับประทาน “มะละกอดิบ” หากนำมาต้มหรือนำไปแกง จะมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยขับลมและขับปัสสาวะได้ดี ส่วน “มะละกอสุก” มีสรรพคุณแก้ท้องผูก เพราะมีไฟเบอร์สูงและมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ประกอบไปด้วย วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน และสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยบำรุงสายตา บวกกับวิตามินซีสูง จึงช่วยป้องกันอาการเลือดออกตามไรฟันได้เป็นอย่างดี
รับประทานมะละกออย่างไรให้สุขภาพดี?
มะละกอหั่นชิ้นพอดีคำประมาณ 7 ชิ้น ให้พลังงานเพียง 60 กิโลแคลอรี่เท่านั้น แม้มะละกอจะมีพลังงานต่ำ เหมาะกับการรับประทานเพื่อลดความอ้วน แต่การบริโภคมะละกอมากเกินไปอาจทำให้ได้รับเบต้าแคโรทีนมากเกินพอดี จึงอาจทำให้มีอาการตัวเหลืองได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานมะละกอในปริมาณที่พอดี และเลือกปอกเปลือกเฉพาะส่วนที่จะกินก่อน อย่าปอกทิ้งไว้ทั้งลูก เพราะหากเก็บไว้นานปริมาณสารอาหารจะลดลงได้