รู้หรือไม่ว่า การทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช่แค่การไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิต แต่มีขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนมากกว่านั้น กว่าจะได้ผลผลิตปลอดภัยออกสู่ท้องตลาด แล้วขั้นตอนที่ซับซ้อนมีอะไรกันบ้าง ชวนมาหาคำตอบกัน
เกษตรอินทรีย์ (Organic) คือ ระบบจัดการด้านการเกษตรแบบองค์รวมที่มีส่วนเกื้อหนุนระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยหลีกเลี่ยงการใช้วัถตุดิบจากการสังเคราะห์ในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ
เกษตรอินทรีย์ คือ อะไร?
เกษตรอินทรีย์ (Organic) คือ ระบบจัดการด้านการเกษตรแบบองค์รวมที่มีส่วนเกื้อหนุนระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยหลีกเลี่ยงการใช้วัถตุดิบจากการสังเคราะห์ในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การปลูก ยันกระบวนการปลายน้ำ ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตและเก็บรักษา และไม่ใช้พืช สัตว์ หรือ จุลินทรีย์ที่ได้จากการดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) มาใช้ในทุกขั้นตอนการผลิต ถือเป็นหลักการพื้นฐานของการผลิตผลผลิตอินทรีย์
ส่วนคำว่า อินทรีย์ หรือ ออร์แกนิก มีความหมายเดียวกัน โดยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะ แค่ผลผลิตจากพืชเท่านั้น แต่รวมถึง ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำด้วย ซึ่งผลผลิตอินทรีย์จะต้องเป็นอินทรีย์ตั้งแต่ต้นทางการผลิต นั่นหมายถึง อาหารที่นำมาเลี้ยงสัตว์ต้องเป็นอินทรีย์ หรือ ปุ๋ยที่นำมาใส่ต้นไม้ ถ้ามีส่วนผสมของมูลสัตว์ ก็ต้องได้จากสัตว์ที่กินพืชอินทรีย์และเลี้ยงในระบบอินทรีย์ด้วย ถึงจะได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
หลักการของเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วยอะไรบ้าง
ขณะเดียวกันหลักการทำเกษตรอินทรีย์ ก็มีถึง 11 ขั้นตอน ดังนี้
1.ระบบการเกษตรที่พัฒนาไปสู่การเกษตรผสมผสานที่มีความหลากหลายของพืชและสัตว์ได้
2.เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องของอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหาร จึงมุ่งเน้นการใช้ปัจจัยการผลิตภายในฟาร์มเป็นหลัก
3.เกษตรกรสามารถฟื้นฟูและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและคุณภาพน้ำในพื้นที่ได้ โดยการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักและปุ๋ยพืชสด จากการนำทรัพยากรในฟาร์มมาหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์
4.สามารถรักษาสมดุลของนิเวศในฟาร์ม และความยั่งยืนของระบบนิเวศโดยรวม ทั้งสภาพภูมิอากาศ น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ
5.ป้องกันและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติที่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงมุ่งเน้นการผลิตที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด อาทิ งดการเผาตอซัง และไม่ปล่อยน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงแหล่งน้ำสาธารณะ
6.ปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปด้วยวิธีธรรมชาติ
7.รักษาความหลากหลายทางชีวภาพของระบบการเกษตรและระบบนิเวศรอบข้าง
8.ต้องรักษาความเป็นอินทรีย์ในตลอดห่วงโซ่การผลิต แปรรูป เก็บรักษา และการจำหน่าย
9.หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ตลอดกระบวนการผลิต แปรรูป และการเก็บรักษา
10.ผลผลิต ผลิตภัณฑ์ หรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต้องไม่มาจากการดัดแปรพันธุกรรม (GMO)
11.ผลิตภัณฑ์หรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ต้องไม่ผ่านการฉายรังสี
เรียกว่า กว่าจะได้ผลผลิตอินทรีย์ออกสู่ท้องตลาด ต้องผ่านกระบวนค่อนข้างมาก ดังนั้นเกษตรอินทรีย์ล้วนมีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างมาก เพื่อให้มั่นใจว่า ผลผลิตที่ได้ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
อ้างอิงข้อมูล:สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์