เกษตรอินทรีย์...พลังสร้างชุมชน

การทำเกษตรเชิงเดี่ยว หรือ การปลูกพืชชนิดเดียวบนพื้นที่เดียวกัน ถือเป็นความเสี่ยงของเกษตรกร เพราะไม่สามารถสร้างรายได้ที่ต่อเนื่องได้ แต่ต้นทุนการทำเกษตรเพิ่มขึ้น จากการใช้สารเคมีต่างๆ ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง

อัฒมาส ชนะ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดเชียงใหม่ มองว่า การทำเกษตรเชิงเดี่ยว ถือเป็นความเสี่ยงของเกษตรกร เพราะต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกค่อนมาก ผลกระทบที่ชัดเจน คือ ราคาปุ๋ยสูงขึ้น โรคและแมลงศัตรูก็เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ใช้สารเคมีมากขึ้น ต้นทุนการทำเกษตรของเกษตรกรก็พุ่งสูงขึ้น ขณะที่ความปลอดภัยของผลผลิตที่ได้ก็ลดลง

เมื่อต้นทุนการทำเกษตรสูงขึ้น แต่ความปลอดภัยของอาหารลดลง ความอยู่รอดของเกษตรกรก็ลดน้อยถอยลงเช่นกัน ทำให้ อัฒมาส มีความเชื่อว่า “ประเทศไทยจะอยู่รอดได้ด้วยเกษตรอินทรีย์” จึงมุ่งมั่นส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ หนึ่งแนวทางอันดับแรกๆที่เร่งสร้าง คือ การให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเอง ผลิตอาหารที่ปลอดภัย พร้อมๆกับการดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วย

อีกจุดสำคัญ คือ การเชื่อมโยงทุกภาคส่วนต่างๆเข้าด้วยกัน ถือเป็นหน้าที่หลักของ สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดเชียงใหม่ ยึดมั่นด้วยการดำเนินงานในลักษณะองค์กรภาคประชาชน ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรที่เป็นจิตอาสา และมีการเชื่อมโยงภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน

ยกตัวอย่างเช่น ภาครัฐจัดโครงการตลาดต่างๆ เราก็สนับสนุนให้เกษตรกรนำผลผลิตไปเข้าร่วมโครงการผลิตปุ๋ย สารชีวภัณฑ์ หรือการเข้าร่วมกับภาคเอกชน ในการทำงานร่วมกับสภาลมหายใจเชียงใหม่ เพื่อแก้ปัญหาหมอก ควัน ซึ่งเกษตรอินทรีย์ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม หรือ ภาคการท่องเที่ยว เราก็มีแผนนำแปลงการเกษตรเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวที่จะช่วยสนับสนุนในส่วนของรายได้และความภาคภูมิใจ ภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ก็ค่อยๆ แผ่กิ่งก้านสาขา จนปัจจุบันมีเครือข่ายทั้งหมด 25 อำเภอ

อัฒมาส ย้ำว่า การทำเกษตรอินทรีย์อยากให้เริ่มที่หัวใจที่เป็นอินทรีย์ก่อน เริ่มจากการดูแลตัวเอง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นเมื่อเรามีเหลือแล้วค่อยแบ่งปันสิ่งดีๆ เหล่านี้เพื่อกระจายออกสู่คนอื่นๆ